วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

................เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยหรือเครื่องมือวัด (Research Instrument) หมายถึง สิ่งที่ผู้วิจัยจำเป็นต้องใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์หาคำตอบเพื่อทดสอบสมมุติฐาน ซึ่งการที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงต้องเลือกใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพเชื่อถือได้ สามารถจำแนกลักษณะที่วัดได้ โดยลักษณะของเครื่องมือวัดที่ดีจะมีคุณสมบัติ ดังนี้
.................1. มีความเที่ยงตรง (Validity) คือเป็นเครื่องมือที่สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการจะวัดหรือสามารถวัดได้ตรงตามจุดประสงค์ของการวัด โดยความเที่ยงตรงในการวัดแบ่งออกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการวัด คือ ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา, ความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง และความเที่ยงตรงเชิงพยากรณ
................2. มีความเชื่อถือได้ (Reliability)ความเชื่อถือได้ของเครื่องมือวัดนั้น หมายถึง เป็นเครื่องมือวัดที่สามารถวัดได้คงที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงไปมา ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้งก็จะได้ข้อมูลที่ตรงกันเสมอ
................3. มีอำนาจจำแนก (Discrimination)เครื่องมือที่ดีจะต้องมีอำนาจจำแนกสูง ซึ่งหมายถึง สามารถแยกหรือแบ่งกลุ่มผู้ตอบออกเป็นระดับต่างๆ ได้ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ถูกวัด
................4. มีประสิทธิภาพ (Effciency)เครื่องมือวัดที่ดีจะต้องมีประสิทธิภาพ นั่นคือ จะต้องเป็นเครื่องมือที่วัดได้เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ นอกจากนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า โดยที่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการวัดน้อย

ความหมายและความสำคัญของการวัด
...............การวัด หมายถึง กระบวนการต่างๆ ที่ใช้ในการกำหนดค่าหรือตัวเลขให้กับตัวแปรที่ต้องการศึกษาตามกฎเกณฑ์ที่ผู้วิจัยตั้งขึ้น การวัดจะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถดำเนินการกับข้อมูลประมวลผลและวิเคราะห์เชิงสถิติต่อไปได้

ความสำคัญของการวัด
...............กระบวนการวัดนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินหรือกำหนดคุณภาพของการวิจัย หากงานวิจัยใดที่มีการวัดที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะส่งผลให้ผลที่ได้จากการวิจัยนั้นมีคุณภาพ การทดสอบข้อสมมุติฐานหรือข้อสรุปใดก็จะถูกต้องและมีคุณภาพตามไปด้วย

ระดับของการวัด (Level of measurement)
...............ในการวัดผู้วิจัยสามารถกำหนดรายละเอียดของการวัดว่าต้องการให้ละเอียดมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปได้แบ่งระดับการวัดออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
...............1. มาตรานามบัญญัติ (Norminal scales) เป็นการวัดสิ่งต่างๆ ที่มีการแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะหรือคุณสมบัติที่ปรากฏ โดยข้อมูลที่ได้จากการวัดนี้จะเป็นประเภทหรือกลุ่มของข้อมูล ซึ่งแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดและมักจะกำหนดตัวเลขกำกับเพื่อให้ง่ายต่อการจำ เช่น เลขประจำบัตรนักศึกษา เลขที่บ้าน หรือหมายเลขโทรศัพท์เป็นต้น ผลของการวัดแต่ละหน่วย ไม่สามารถนำตัวเลขเหล่านั้นมาบวก ลบ คูณ หรือหาร กันได้ เช่น การจำแนกคนเป็นเพศหญิง เพศชาย นักศึกษา พ่อค้า แม้ค้า นักธุรกิจหรือเกษตรกร เพราะเป็นการบอกลักษณะหรือคุณสมบัติประจำตัวของแต่ละคนและเป็นเพียงการแสดงให้เห็นความแตกต่างของสิ่งของหรือบุคคลต่างๆ เท่านั้น
..............2. มาตราเรียงอันดับ (Ordinal scales) เป็นการวัดจำนวนที่จัดเป็นอันดับในสิ่งที่ต้องการวัด การวัดเช่นนี้จะเรียงคุณสมบัติของข้อมูลประเภทเดียวกันจากตำแหน่งสูงสุดไปหาตำแหน่งที่ต่ำสุด โดยไม่คำนึงถึงจำนวนหรือช่วงของการวัด เช่น เรียงตามปริมาณ เรียงตามความสำคัญ หรือระดับของการวัดที่บอกถึงอันดับที่ (Order) หรือตำแหน่ง (Rank) ที่ลดหลั่นกันเป็นลำดับ เช่น การบอกลักษณะมาก-น้อย สูง-ต่ำ กว้าง-แคบ เป็นต้น
................3. มาตราอันตรภาค (Interval scales) เป็นการวัดจำนวนที่บอกความแตกต่างระหว่างค่าที่วัดได้แต่ละช่วงของการวัด เช่น การวัดช่วงของอายุประชากรหรือตัวแปร การวัดช่วงของรายได้ โดยมาตรานี้จะไม่มีศูนย์แท้ แต่ทราบว่าสิ่งที่ได้มีค่ามากหรือน้อยกว่ากันเป็นจำนวนเท่าใด โดยสามารถเปลี่ยนหน่วยการวัดนี้เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยระเบียบวิธีการทางสถิติในการแปลทุกหน่วยที่ต้องการจะเปรียบเทียบให้เป็นหน่วยเดียวกันหมด
................4. มาตราอัตราส่วน (Ratio scales) เป็นระดับการวัดในระดับสูงมีศูนย์แท้ (Ture Zero) โดยค่าที่วัดได้จะบอกขนาดที่แน่นอนและมีการเปลี่ยนหน่วยการวัดระดับนี้ จากหน่วยหนึ่งมาเป็นอีกหน่วยหนึ่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันโดยอาศัยวิธีการทางสถิติ เช่น ปริมาณ ความเร็ว ความยาว ความหนา และพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

ชนิดของเครื่องมือในการวิจัย
................เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยที่แตกต่างกันออกไป เครื่องมือที่นิยมใช้และเป็นที่รู้จักกัน มีดังนี้
...............1. แบบทดสอบ (Test)
...............2. แบบสอบถาม (Questionnaire)
...............3. แบบสัมภาษณ์ (Interview)

1. แบบทดสอบ (Test)
.................แบบทดสอบ (Test) เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความรู้หรือระดับสติปัญญา ความถนัดและการเรียนรู้งาน หรือใช้วัดความสามารถทางด้านการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งแบบทดสอบนี้ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ
................1. แบบทดสอบความเรียง (Essay test) เป็นแบบสอบถามที่ผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบแบบสอบถามอย่างอิสระหรือมีเสรีในการตอบคำถามจากการตีความของโจทย์ที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นมา การตอบจะตอบได้มาก-น้อยอย่างไร หรือตรงประเด็นหรือไม่อย่างไร ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้ตอบแบบสอบถาม บางครั้งอาจจัดให้เป็น 4 ช่วง เช่น เห็นด้วยอย่างมาก เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และถ้าเป็น 3 ช่วง จะกำหนดเป็น เห็นด้วย ไม่แน่ใจ ไม่เห็นด้วย เป็นต้น
...............2. แบบทดสอบแบบตอบสั้น (Short answer test) เป็นแบบสอบถามที่ผู้ถามต้องการคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจนจากผู้ตอบ ว่ามีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เช่น การถามเกี่ยวกับสถานที่ ชื่อบุคคล เป็นต้น
...............3. แบบทดสอบแบบเลือกตอบ (Multiple choice item) เป็นแบบสอบถามที่จะมีทั้งคำถามและคำตอบ โดยคำตอบในตัวเลือกนั้น จะมีข้อถูกเพียงข้อเดียวเท่านั้น ส่วนตัวเลือกอื่นจะเป็นตัวลวง (Distractors) ลักษณะเด่นของแบบสอบถามแบบเลือกตอบอยู่ที่ผู้ตอบใช้เวลามาก ในการอ่านและคิด ส่วนการตอบใช้เวลาน้อย การตรวจการวิเคราะห์ทำได้ง่ายและสะดวก ผู้วิจัยจึงนิยมนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัย แบบทดสอบแบบเลือกตอบอีกแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย ส่วนมากจะใช้ในการสัมภาษณ์หรือใช้กับผู้ให้ข้อมูลที่มีความรู้น้อย แบบทดสอบที่ว่าจะเป็นสองตัวเลือกหรือแบบถูก-ผิด หรือ มี-ไม่มี เป็นต้น

2. แบบสอบถาม (Questionnaire)
..............แบบสอบถามเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในหมู่นักวิจัย ทั้งนี้เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและสามารถใช้วัดได้อย่างกว้างขวาง อันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และการคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งแบบสอบถามส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของคำถามเป็นชุดๆ เพื่อวัดสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการจะวัด โดยมีคำถามเป็นตัวกระตุ้นเร่งเร้าให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา
โครงสร้างของแบบสอบถาม ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ดังนี้
.................1. หนังสือนำหรือคำชี้แจง ส่วนแรกของแบบสอบถามจะเป็นคำชี้แจงซึ่งอาจมีจดหมายนำอยู่ด้านหน้า พร้อมคำขอบคุณ ในคำชี้แจงนั้นมักจะระบุถึงจุดประสงค์ที่ให้ตอบแบบสอบถาม การนำคำตอบที่ได้ไปใช้ประโยชน์ คำอธิบายลักษณะของแบบสอบถาม วิธีการตอบแบบสอบถามพร้อมตัวอย่าง พร้อมทั้งจบลงด้วยชื่อและที่อยู่ของผู้วิจัย
................2. ส่วนที่เป็นคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว คำตอบที่ได้จะเป็นข้อเท็จจริงของผู้ตอบแบบสอบถาม เช่น คำถามเกี่ยวกับเพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ ฯลฯ การที่จะถามข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับกรอบแนวความคิดในการวิจัย โดยดูว่าตัวแปรที่สนใจจะศึกษานั้นมีอะไรบ้างที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว เพื่อที่จะถามเฉพาะข้อมูลส่วนตัวในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น
................3. ชุดคำถามเกี่ยวกับความคิดเห็น หรือพฤติกรรมของผู้ตอบในเรื่องนั้นๆ เป็นชุดคำถามที่ให้ผู้ตอบบอกถึงพฤติกรรม หรือปรากฏการณ์ หรือให้แสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ ซึ่งบางครั้งจะไม่สามารถทราบได้ว่าคำตอบนั้นเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้ตอบในขณะนั้น คำถามในส่วนนี้อาจเป็นได้ทั้งคำถามปลายปิดและปลายเปิด

ขั้นตอนการสร้างแบบสอบถาม
...............1. ศึกษาคุณลักษณะที่จะวัด ผู้วิจัยจะต้องศึกษาคุณลักษณะหรือประเด็นที่จะวัดให้เข้าใจอย่างละเอียด โดยศึกษาจากเอกสาร ตำราหรือผลการวิจัยต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ตลอดจนศึกษาลักษณะของแบบสอบถามเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างแบบสอบถาม
..............2. กำหนดชนิดของแบบสอบถาม ผู้วิจัยจะต้องเลือกชนิดของแบบสอบถามให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะวัดและกลุ่มตัวอย่าง
..............3. ศึกษาวิธีการสร้างแบบสอบถาม ผู้วิจัยจะต้องศึกษาวิธีการสร้างแบบสอบถามเพื่อวัดคุณลักษณะที่ต้องการจะวัด โดยศึกษาวิธีการสร้างแบบสอบถามจากตัวอย่างให้เข้าใจ และยึดวัตถุประสงค์เป็นหลักในการสร้างแบบสอบถาม
..............4. แบ่งคุณสมบัติที่ต้องการจะวัดออกเป็นด้านต่างๆ การสร้างแบบสอบถาม ผู้วิจัยควรแบ่งคุณสมบัติที่ต้องการวัดออกเป็นด้านๆ ซึ่งจะทำให้สร้างง่ายขึ้นและครอบคลุมในแต่ละด้านอย่างทั่วถึง
...............5. เขียนคำชี้แจงในการตอบแบบสอบถาม ส่วนแรกของการแบบสอบถาม คือคำชี้แจงในการตอบแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วยความมุ่งหมายของการวิจัย คำอธิบายวิธีการตอบแบบสอบถามพร้อมทั้งตัวอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ตอบแบบสอบถามทราบวัตถุประสงค์ และเข้าใจวิธีการสร้างแบบสอบถามนั้น โดยผู้วิจัยต้องเขียนให้ละเอียดและชัดเจนด้วย
...............6. การปรับปรุงแบบสอบถาม หลังจากที่สร้างแบบสอบถามเสร็จแล้ว ผู้วิจัยควรนำแบบสอบถามนั้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อหาข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข และควรให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจแบบสอบถามนั้นด้วย เพื่อที่จะได้นำข้อเสนอแนะและข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
...............7. นำแบบสอบถามไปทดลองใช้เพื่อวิเคราะห์คุณภาพ เป็นการนำเอาแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงแล้วไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ เพื่อนำผลมาตรวจสอบคุณภาพของแบบสอบถาม
...............8. ปรับปรุงแบบสอบถามให้สมบูรณ์ ผู้วิจัยจะต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้จากผลการวิเคราะห์คุณภาพอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แบบสอบถามมีความสมบูรณ์และมีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้ผลงานวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถืออีกครั้งหนึ่ง
...............9. จัดพิมพ์แบบสอบถาม เป็นการนำแบบสอบถามที่ได้ปรับปรุงแล้วมาจัดพิมพ์และตรวจสอบให้ละเอียด โดยความถูกต้องในถ้อยคำหรือสำนวน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ตอบอ่านเข้าใจได้ตรงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการ

หลักการในการสร้างแบบสอบถาม
...............1. ต้องมีจุดมุ่งหมายทีแน่นอนว่าต้องการจะถามอะไรบ้าง โดยจุดมุ่งหมายนั้นจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่จะทำ
...............2. ต้องสร้างคำถามให้ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เพื่อป้องกันการมีข้อคำถามนอกประเด็นและมีจำนวนข้อคำถามจำนวนมาก
...............3. ต้องถามให้ครอบคลุมเรื่องที่จะวัด โดยมีจำนวนข้อคำถามที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่จะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่จะวัด ซึ่งตามปกติพฤติกรรมหรือเรื่องที่จะวัดเรื่องหนึ่งๆ นั้นควรมีข้อคำถามในช่วง 25-60 ข้อ
...............4. การเรียงลำดับข้อคำถาม ควรเรียงลำดับให้ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน และแบ่งตามพฤติกรรมย่อยๆ ไว้เพื่อให้ผู้ตอบเห็นชัดเจนและง่ายต่อการตอบ นอกจากนั้นต้องเรียงคำถามง่ายๆ ไว้เป็นข้อแรกๆ เพื่อให้ชักจูงให้ผู้ตอบอยากตอบคำถามต่อ ส่วนคำถามสำคัญๆ ไม่ควรเรียงไว้ตอนท้ายของแบบสอบถาม เพราะความสนใจในการตอบของผู้ตอบอาจจะน้อยลง ทำให้ตอบอย่างไม่ตั้งใจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผลการวิจัยมาก
.................5. ลักษณะของข้อความที่ดี ข้อคำถามที่ดีของแบบสอบถามนั้น ควรมีลักษณะดังนี้
....................1) ข้อคำถามไม่ควรยาวจนเกินไป ควรใช้ข้อความสั้น กะทัดรัด ตรงกับวัตถุประสงค์และสองคล้องกับเรื่อง
....................2) ข้อความ หรือภาษที่ใช้ในข้อความต้องชัดเจน เข้าใจง่าย โ
....................3) ไม่ใช้คำถาม ถามนำหรือแนะให้ตอบ
....................4) ไม่ถามเรื่องที่เป็นความลับเพราะจะทำให้ตอบไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
....................5) ไม่ถามในเรื่องที่รู้แล้ว หรือถามในสิ่งวัดได้ด้วยวิธีอื่น
....................6) ข้อคำถามต้องเหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ต้องคำนึงถึงระดับการศึกษา ความสนใจ สภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ
....................7. ข้อคำถามหนึ่งๆ ควรถามเพียงปัญหาเดียว เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนและตรงจุด ซึ่งจะง่ายต่อการนำมาวิเคราะห์ข้อมูล
....................8. คำตอบหรือตัวหลักในข้อคำถามควรมีมากพอ หรือให้เหมาะสมกับข้อคำถามนั้น
แต่ถ้าไม่สามารถระบุได้หมดก็ให้ใช้ว่า อื่นๆ โปรดระบุ
....................9) คำตอบที่ได้จากแบบสอบถาม ให้สามารนำมาแปลงออกมาในรูปองปริมารและใช้สถิติอธิบายข้อเท็จจริงได้ เพราะปัจจุบันนี้นิยมใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาในการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นแบบสอบถามควรคำนึงถึงวิธีการประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

คำถามในแบบสอบถาม
คำถามในแบบสอบถามอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
....................1. คำถามปลายเปิด (Open End Question) เป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบสามารถตอบได้อย่างเต็มที่ คำถามปลายเปิดจะนิยมใช้กันมากในกรณีที่ผู้วิจัยไม่สามารถคาดเดาคำตอบไว้ล่วงหน้าว่าคำตอบควรจะเป็นอย่างไร หรือใช้คำถามปลายเปิดในกรณีที่ต้องการได้คำตอบเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการสร้างคำถามปลายปิด ตัวอย่างคำถามปลายเปิด เช่น
ท่านตัดสินใจประกอบอาชีพค้าขาย เพราะ...................................
....................2. คำถามปลายปิด (Close End Question) เป็นคำถามที่ผู้วิจัยมีแนวคำตอบไว้ให้ผู้ตอบเลือกตอบจากคำตอบที่กำหนดไว้เท่านั้น คำตอบที่ผู้วิจัยกำหนดไว้ล่วงหน้านี้ได้มาจากการทดลองใช้คำถามในลักษณะที่เป็นคำถามปลายเปิด แล้วนำมาจัดกลุ่มของคำตอบ หรือได้มากจากการศึกษาผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง หรือจากแนวความคิดของผู้วิจัยเอง และจากข้อมูลอื่นๆ

รูปแบบการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
....................1. การนำแบบสอบถามไปส่งให้ผู้ตอบด้วยตนเอง โดยผู้วิจัยหรือพนักงานเก็บข้อมูลนำแบบสอบถามไปส่งให้กับกลุ่มตัวอย่างด้วยตนเอง และรอรับหรือนัดวันรับแบบสอบถามกลับมา ถ้ารอรับแบบสอบถามกลับมา ผู้วิจัยหรือพนักงานเก็บข้อมูลควรชี้แจงข้อคำถามที่ผู้ตอบสงสัย และตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของคำตอบนั้นในทันที ซึ่งวิธีการนี้จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่าวิธีการส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์
....................2. การส่งแบบสอบถามทางไปรษณีย์ ผู้วิจัยควรให้หมายเลขประจำแบบสอบถาม (Indentification Number) ของแบบสอบถามทุกชุดไว้ และบันทึกไว้ว่าแบบสอบถามหมายเลขนั้นส่งไปให้ใครเพื่อความสะดวกในการติดตามแบบสอบถามนั้นกลับคืนมา การส่งแบบสอบถามไปให้หน่วยตัวอย่างกรองเองนั้น จะต้องจ่าหน้าซองอย่างละเอียดและถูกต้อง ชัดเจน ถึงผู้รับ และแนบซองเขียนชื่อที่อยู่ของผู้วิจัย พร้อมติดแสตมป์ให้เรียบร้อยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ตอบในการส่งแบบสอบถามกลับคืนมา หรืออาจใช้วิธีพับแบบสอบถามและจ่าหน้าถึงผู้รับพร้อมติดแสตมป์ไว้ด้านนอก และในส่วนที่พับเข้าด้านในนั้นให้จ่าหน้าถึงผู้วิจัยพร้อมติดแสตมป์เพื่อให้ผู้ตอบนั้นส่งกลับคืนมา
ข้อดีและข้อเสียของการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม
....................ข้อดีของการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามมีดังนี้ คือ
....................1. ถ้าตัวอย่างมีขนาดใหญ่ วิธีการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จะเป็นวิธีการที่สะดวกและประหยัดกว่าวิธีอื่น
....................2. ผู้ตอบมีเวลาตอบมากกว่าวิธีการอื่น
....................3. ไม่จำเป็นต้องฝึกอบรมพนักงานเก็บข้อมูลมากเหมือนกับวิธีการสัมภาษณ์หรือวิธีการสังเกต
....................4. ไม่เกิดความลำเอียงอันเนื่องมาจากการสัมภาษณ์หรือการสังเกต เพราะผู้ตอบเป็นผู้ตอบข้อมูลเอง
....................ข้อเสียของการเก็บข้อมูลโดยวิธีการใช้แบบสอบถาม มีดังนี้คือ
....................1. ในกรณีที่ส่งแบบสอบถามให้ผู้ตอบทางไปรษณีย์ มักจะได้แบบสอบถามกลับคืนมาน้อย และต้องเสียเวลาในการติดตาม อาจทำให้ระยะเวลาการเก็บข้อมูลล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้
....................2. การเก็บข้อมูลโดยวิธีการใช้แบบสอบถามจะใช้ได้เฉพาะกับกลุ่มประชากรเป้าหมายที่อ่านและเขียนหนังสือได้เท่านั้น
....................3. จะได้ข้อมูลจำกัดเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะการเก็บข้อมูลโดยวิธีการใช้แบบสอบถาม จะต้องมีคำถามจำนวนน้อยข้อที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
....................4. การส่งแบบสอบถามไปทางไปรษณีย์ หน่วยตัวอย่างอาจไม่ได้เป็นผู้ตอบแบบสอบถามเองก็ได้ ทำให้คำตอบที่ได้มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความจริง
....................5. ถ้าผู้ตอบไม่เข้าใจคำถามหรือเข้าใจคำถามผิด หรือไม่ตอบคำถามบางข้อ หรือไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะตอบคำถาม ก็จำทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนได้ โดยที่ผู้วิจัยไม่สามารถย้อนกลับไปสอบถามหน่วยตัวอย่างนั้นได้อีก
....................6. ผู้ที่ตอบแบบสอบถามกลับคืนมาทางไปรษณีย์ อาจเป็นกลุ่มที่มีลักษณะแตก
ต่างจากกลุ่มผู้ที่ไม่ตอบแบบสอบถามกลับคืนมา ดังนั้นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์จะมีความลำเอียงอันเนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างได้
........................................................................ที่มา...http://web.udru.ac.th/~sutad18/new2/10.html
3. แบบสัมภาษณ์ (Interview)
.................การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัย การสัมภาษณ์มีจุดมุ่งหมายทำนองเดียวกับการใช้แบบทดสอบ จึงมีผู้เรียกการสัมภาษณ์ว่าเป็นแบบสอบถามปากเปล่า (Oral questionnaires) แต่มีความแตกต่างกันตรงวิธีการ กล่าวคือ การสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายซักถามโดยการพูด ผู้ตอบก็ตอบโดยการพูดแล้วผู้สัมภาษณ์เป็นฝ่ายบันทึกคำตอบ ส่วนการใช้แบบสอบถามผู้ตอบตอบโดยการเขียน ตอบลงในแบบสอบถาม ซึ่งการสัมภาษณ์เป็นการพบปะถามตอบกันโดยตรง หากมีข้อสงสัยหรือคำถามใด คำตอบไม่ชัดเจนก็ถามซ้ำหรือทำความเข้าใจได้ และสามารถทำได้ทันทีเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ตอบและผู้ทำวิจัย การสัมภาษณ์ที่ดีถ้าผู้สัมภาษณ์เป็นผู้มีประสบการณ์ถึงขั้นชำนาญแล้วจะสามารถรวบรวมข้อมูลได้ดีกว่าวิธีอื่น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือคนเรานั้นเต็มใจที่จะพูดมากกว่าเขียนโดยทั่วไปจำแนกการสัมภาษณ์เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
.................4.1 การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีการกำหนดคำถามที่แน่นอนตายตัว หรือหากมีการกำหนดไว้บ้าง ก็เป็นคำถามประเด็นหลัก ผู้ถามสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และผู้ตอบแต่ละคนได้ เป็นการสัมภาษณ์ที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้าง ผู้ถามมีอิสระในการถามเพื่อให้ได้คำตอบตรงตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย ไม่นิยมเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้นำมาทดสอบสมมติฐาน ซึ่งคำตอบอาจนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างแบบสัมภาษณ์สำหรับใช้ในการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างในครั้งต่อ ๆ ไปหรือใช้ประโยชน์ในการสร้างแบบทดสอบ และแบบสอบถามได้
....................4.2 การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง(Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดข้อคำถามไว้ล่วงหน้า และในการสัมภาษณ์ผู้ตอบแต่ละคนจะต้องได้รับการถามเช่นเดียวกัน และในลำดับขั้นตอนเดียวกันด้วย ดังนั้น การสัมภาษณ์แบบนี้จำเป็นต้องใช้แบบสอบถามที่จัดเตรียมไว้ก่อน การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างช่วยให้ผู้ถาม ถามในประเด็นที่ต้องการไม่ออกนอกเรื่อง ไม่เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ และข้อมูลที่ได้รับสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ถ้าจำแนกตามจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ในเวลาเดียวกันเป็นเกณฑ์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
..................1. การสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล เป็นการสัมภาษณ์ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์เพียงคนเดียวเผชิญหน้ากับผู้สัมภาษณ์ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและให้ผลมาก นิยมใช้กับงานบริหารบุคคลหรือเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานและเกี่ยวกับการวิจัยโดยทั่วไป
...................2. การสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม เป็นการสัมภาษณ์ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์หลายคน หรือมีการรวบรวมกลุ่มเล็ก ๆ วิธีนี้ผู้สัมภาษณ์จะแจ้งวัตถุประสงค์ และป้อนคำถามโดยอธิบายให้กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์เข้าใจอย่างชัดเจนแล้วให้แต่ละคนตอบ ในขณะที่ตอบ ถ้าใครสงสัยก็ถามทวนได้ วิธีการนี้บางทีก็เรียกว่ากลุ่มสนทนา (Focus Group)
ข้อดีและข้อเสียของการสัมภาษณ์เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบอื่น ๆ การสัมภาษณ์มีข้อดีหลายประการ ดังต่อไปนี้
................1. ได้รับคำตอบจากผู้ให้สัมภาษณ์อย่างครบถ้วน ทั้งจำนวนและลักษณะข้อมูลที่ต้องการ 2. ข้อมูลที่ได้รับ มีความคลาดเคลื่อนน้อย เชื่อถือได้มากเพราะได้ไปสัมภาษณ์เห็นมาโดยตรง 3. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งผู้ให้สัมภาษณ์และผู้วิจัย
................4. เป็นวิธีที่สามารถแยกข้อเท็จจริง ความเห็น และอารมณ์ออกจากกันได้
................5. รวบรวมข้อมูลได้เกือบทุกลักษณะทั้งที่เป็นข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลที่ยุ่งยากซับซ้อน หรือข้อมูลที่แอบแฝงด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์
................6. เป็นวิธีที่ทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากที่ต้องการ ด้วยการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การพูด และคำตอบ
................7. ในขณะสัมภาษณ์ ถ้าสงสัยข้องใจอะไรสามารถสอบถาม ทบทวนกันได้ทันที และทำให้เข้าใจกันได้ทุกประเด็นก่อนจบ
แต่อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลในการวิจัยมีข้อจำกัดที่สำคัญดังนี้
...............1. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แรงงานและเวลามาก
...............2. ยากที่จะขจัดความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์ออกจากผลการสัมภาษณ์ได้
...............3. ผลการสัมภาษณ์ขึ้นอยู่กับตัวผู้สัมภาษณ์อย่างมาก ถ้าผู้สัมภาษณ์ไม่มีประสบการณ์ ผลที่ได้ก็เชื่อถือไม่ค่อยได้
..............4. อาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ถ้าผู้สัมภาษณ์หรือผู้ให้สัมภาษณ์กระวนกระวายใจ มีความเครียดเกิดขึ้นระหว่างการสัมภาษณ์
..............5. ถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคนแบ่งงานไปช่วยสัมภาษณ์ ยากที่จะทำให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันได้
..............6. ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์อยู่กระจัดกระจายมากจะมีผลต่อการเดินทาง เวลา รวมทั้งสิ้นเปลือง เงินทองค่าใช้จ่ายมากด้วย
..............7. ภาษาอาจมีผลต่อการสัมภาษณ์ด้วย ถ้าผู้สัมภาษณ์กับผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจภาษาของกันและกัน
ลักษณะของแบบสัมภาษณ์
..............เนื่องจากแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องช่วยสำหรับการสอบถาม โดยการพูด ดังนั้นลักษณะของแบบสัมภาษณ์จึงเป็นลักษณะทำนองเดียวกับแบบสอบถาม เพียงแต่ใช้สำหรับผู้ถามไม่ใช่ผู้ตอบ ลักษณะของข้อคำถามในแบบสัมภาษณ์ก็เช่นเดียวกัน อาจเป็นข้อคำถามแบบปิดหรือแบบเปิด หรืออาจใช้ผสมกันทั้งแบบปิดและแบบเปิด
.....................................................ที่มา....http://wbc.msu.ac.th/wbc/edu/0504304/lesson6.htm#5

เอกสารอ้างอิง
http://web.udru.ac.th/~sutad18/new2/10.html
http://wbc.msu.ac.th/wbc/edu/0504304/lesson6.htm#5